แมวขนร่วงเยอะ ผิดปกติ เป็นปัญหาสุขภาพที่เจ้าของหลายท่านอาจมองข้ามได้ เนื่องจาก เจ้าของอาจคิดว่า แมวขนร่วงเยอะเป็นปกติอยู่แล้ว
ในการศึกษาเกี่ยวกับโรคของแมว สัตวแพทย์ และนักวิทยาศาสตร์ได้พบว่า ในบรรดาโรคทั้งหลายที่เกิดขึ้นในแมวมีหนึ่งโรคที่ทำให้ แมวขนร่วงเยอะ ผิดปกติ นั่นคือโรคคุชชิ่ง หรือ Hyperadrenocorticism
สัญญาณเตือนอาการของโรคคุชชิ่งในแมว (Cushing’s disease)
โรคคุชชิ่งเป็นโรคที่เกิดจากต่อมหมวกไตทำงานมากกว่าปกติ โดยต่อมหมวกไตจะหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล (cortisol) อย่างผิดปกติ ส่งผลโดยตรงไปยังระบบเผาผลาญพลังงานในร่างกาย และทำให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายเกิดความแปรปรวน
โดยทั่วไปแล้ว โรคุชชิ่งเป็นโรคที่พบในสุนัขได้บ่อยกว่าแมว แต่ถ้าเกิดขึ้นในแมวแล้ว การรักษาและการควบคุมอาการจะยากกว่าการรักษาในสุนัข และมักพบโรคนี้ในแมวที่มีอายุช่วงกลางค่อนไปทางสูงอายุ
สัตวแพทย์คาดว่า สาเหตุที่ทำให้แมวเป็นโรคคุชชิ่งมีสาเหตุที่เป็นไปได้ 2 สาเหตุ คือ
- ต่อมหมวกไตชั้นนอกทำงานมากกว่าปกติ
- ต่อมใต้สมองของแมวทำงานผิด จึงส่งสัญญาณไปที่ต่อมมหวกไตให้ผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอลมากกว่าปกติ
อาการของแมวที่เป็นโรคคุชชิ่ง
- มีความอยากอาหาร และกินอาหารมากเพิ่มขึ้นกว่าปกติ
- ขนร่วงหรือขนบางลง
- มีผิวหนังบางและบอบบางจนอาจสามารถมองเห็นเส้นเลือดที่ผิวหนังได้ชัดเจน
- ผิวหนังฟกช้ำง่ายหรือบาดแผลหายช้า
- ช่องท้องขยายใหญ่ พุงป่องหย่อนคล้อย
- เหนื่อยหอบง่าย อ่อนแรง และกล้ามเนื้อลีบ
- ปัสสาวะบ่อย หรือปัสสาวะมากกว่าปกติ
- บริเวณปลายหูแมวมีการดัดงอ
การตรวจวินิจฉัยโรคคุชชิ่งในแมว
สัตวแพทย์จะตรวจวินิจฉัยโดยการตรวจร่างกาย และซักประวัติอย่างละเอียด ร่วมกับการตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด การตรวจค่าเคมีทางเลือด ค่าอิเล็กโทรไลต์ในเลือด เพื่อตรวจวินิจฉัยแยกแยะโรคอื่น ๆ ออกไป
จาดนั้น สัตวแพทย์จะตรวจวินิจฉัยทางรังสีวิทยา และการอัลตร้าซาวด์ช่องท้อง เพื่อดูขนาด รูปร่าง และลักษณะของต่อมหมวกไต ว่ามีการขยายใหญ่ หรือไม่ ซึ่งช่วยแยกแยะระหว่างโรคที่ขึ้นอยู่กับต่อมหมวกไต และต่อมใต้สมองได้เบื้องต้น นอกจากการทำอัลตร้าซาวด์แล้ว ารทำ CT scan ก็มีประโยชน์ในการดูความผิดปกติของต่อมหมวกไตได้ในบางราย
การตรวจปัสสาวะ และการตรวจวัดปริมาณคอร์ติซอลในปัสสาวะ สามารถใช้เป็นการตรวจคัดกรองเบื้องต้น เพื่อวินิจฉัยภาวะต่อมหมวกไตทำงานมากกว่าปกติได้ นอกจากนี้ การตรวจการทำงานของต่อมหมวกไตโดยการฉีดฮอร์โมน ACTH การทดสอบนี้จะมีความจำเพาะมากขึ้น โดยจะมีการฉีดฮอร์โมน ACTH เข้าสู่ร่างกายและวัดระดับคอร์ติซอลก่อนและหลังการฉีด ACTH สังเคราะห์ หากพบว่ามีความเข้มข้นของคอร์ติซอลมากเกินไปจะช่วยยืนยันในการวินิจฉัยได้
การทดสอบด้วยการฉีด Dexamethasone ในปริมาณต่ำและสูง เพื่อวัดระดับคอร์ติซอลในเลือดก่อนและหลังการฉีด เป็นการทดสอบที่ดูการยับยั้งการทำงานของต่อมหมวกไต ซึ่งหากต่อมหมวกไตไม่สามารถยับยั้งการทำงานได้ ก็บ่งชี้ได้ว่า ต่อมหมวกไตมีความผิดปกติ
การรักษาและการดูแลแมวที่เป็นโรคคุชชิ่ง
1. การรักษาทางยา สัตวแพทย์จะให้ยาที่ออกฤทธิ์เพื่อระงับการผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอลจากต่อมหมวกไต โดยปัจจุบันมียาหลายชนิด แต่มีเพียงไม่กี่ชนิดที่แมวตอบสนองต่อการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ
โดยส่วนใหญ่สัตวแพทย์จะเลือกใช้ยาเม็ด Trilostane และต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของสัตวแพทย์ตลอดระยะเวลาการใช้ยา ต้องติดตามอาการ และปรับขนาดยาตามอาการ และการตอบสนองของแมว ร่วมถึงประเมิณผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้จากการใช้ยา
2. การรักษาโดยการผ่าตัดต่อมหมวกไต เป็นการผ่าตัดต่อมหมวกไตออก ซึ่งอาจเป็นทางเลือกในการรักษาที่ดี หากตรวจพบว่าต่อมหมวกไตมีความผิดปกติเพียงข้างเดียว (เช่น ถ้ามีเนื้องอกที่ไม่ร้ายแรงซึ่งส่งผลกระทบต่อต่อมหมวกไตข้างใดข้างหนึ่งจากทั้งสองข้าง) แต่การรักษาด้วยวิธีนี้ต้องประเมิณสภาพร่างกายของแมวร่วมด้วย
3. การผ่าตัดภาวะ Hypophysectomy เป็นคำที่ใช้เรียกการผ่าตัดเพื่อนำต่อมใต้สมองออก แม้ว่าจะเป็นไปได้ในทางเทคนิค แต่ก็เป็นการผ่าตัดที่ยากและมีความเสี่ยงสูงมาก สัตวแพทย์จึงไม่ค่อยแนะนำ
4. การฉายรังสีรักษาสำหรับเนื้องอกในต่อมใต้สมอง การรักษานี้สามารถช่วยควบคุมภาวะต่อมหมวกไตทำงานมากกว่าปกติได้
โรคนี้อาจจะเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่หากได้รับการดูแลและรักษาที่เหมาะสม แมวก็สามารถตอบสนองการรักษา และมีอาการที่ดีขึ้นได้ ซึ่งเป็นการช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับแมว
บทความโดย
สพ.ญ.ปิยวรรณ ภู่ระหงษ์
สัตวแพทย์ประจำโรงพยาบาลแมว PURRfect Cat Hospital
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : ภาวะต่อมหมวกไตชั้นนอกทำงานมากกว่าปกติ หรือกลุ่มอาการคุชชิ่ง