โรคพยาธิเม็ดเลือดในแมว: การักษา และการป้องกัน

โรคพยาธิเม็ดเลือดในแมว อาจไม่ใช่โรคที่พบได้บ่อยเหมือนโรคติดเชื้อชนิดอื่น ๆ แต่ก็เป็นโรคสำคัญที่เจ้าของแมวควรตระหนัก และดูแลแมวอย่างระมัดระวัง

โรคพยาธิเม็ดเลือดในแมว คืออะไร

โรคพยาธิเม็ดเลือดในแมว เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียกลุ่ม Haemotropic mycoplasma ซึ่งมีปรสิตภายนอก อย่างเห็บและหมัด เป็นพาหะนำโรค

เมื่อเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายผ่านการกัดของเห็บและหมัด เชื้อโรคจะเข้าไปอาศัยอยู่บนผิวเซลล์เม็ดเลือดแดง โดยไปรบกวนการทำงานตามปกติของเซลล์เม็ดเลือดแดง และทำให้จำนวนเซลล์เม็ดเลือดลดลง จนส่งผลต่อเนื่องถึงการทำงานตามปกติของอวัยวะภายใน

นอกจากนี้ การติดเชื้อยังเกิดขึ้นได้ผ่านการถ่ายทอดจากแม่สู่ลูกแมว การเกิดแผลเปิดจากการถูกกัดแล้วเชื้อผ่านเข้าทางบาดแผล และการรับเลือดจากแมวที่ติดเชื้ออยู่แล้ว

เชื้อพยาธิเม็ดเลือด Haemotropic mycoplasma แบ่งได้เป็น 3 ชนิด คือ

  • Mycoplasma haemofelis (พบได้บ่อย และสร้างความรุนแรงของโรคมากที่สุด)
  • Candidatus mycoplasma haemominutum
  • Candidatus Mycoplasma turicensis

โดยเชื้อโรคแต่ละชนิดจะมีความรุนแรงในการก่อโรคแตกต่างกัน ที่ผ่านมาพบว่า แมวที่เลี้ยงระบบเปิดมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากกว่าแมวเลี้ยงระบบปิด และแมวที่เคยติดเชื้อพยาธิเม็ดเลือด หลังจากการรักษาจนอาการหายเป็นปกติดีแล้ว ยังสามารถเป็นพาหะนำโรคพยาธิเม็ดเลือดไปได้อีกหลายปี

โรคพยาธิเม็ดเลือดในแมว, พยาธิเม็ดเลือดในแมว, รักษา,

อาการของแมวที่ติดเชื้อโรคพยาธิเม็ดเลือด

  • ซึม และอาจจจะมีอาการอ่อนแรง
  • เบื่ออาหาร
  • มีไข้
  • มีภาวะเยื่อเมือกซีด เลือดจาง หรือมีภาวะดีซ่าน (เยื่อเมือกและผิวหนังเป็นสีเหลือง)
  • น้ำหนักลดลง
  • ต่อมน้ำเหลืองโต

การตรวจวินิจฉัยโรคพยาธิเม็ดเลือด

การตรวจวินิจฉัยสามารถทำได้โดยการตรวจหาเชื้อในเลือด เช่น การย้อมเลือดบนแผ่นสไลด์ และตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ การตรวจหาเชื้อด้วยวิธี PCR ซึ่งเป็นวิธีที่แนะนำให้การตรวจเนื่องจากมีความจำเพาะ และความไว ในการตรวจหาเชื้อ

ร่วมกับสัตวแพทย์จะซักประวัติ ตรวจร่างกาย การวินิจฉัยอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น การอัลตราซาวน์ช่องท้อง ซึ่งอาจจะพบอาการม้ามโตได้ ในแมวที่ติดเชื้อพยาธิเม็ดเลือด

การรักษาโรคพยาธิเม็ดเลือด

การรักษาการติดเชื้อในแมวจะรักษาโดยใช้ยาปฏิชีวนะ ยาต้านปรสิต และการดูแลแบบประคับประคองเป็นหลัก ซึ่งทานต่อเนื่องกันอย่างน้อย 3 – 4 สัปดาห์ขึ้นไป ในรายที่มีภาวะเลือดจางรุนแรงอาจจะต้องมีการถ่ายเลือดร่วมด้วย

ในบางรายที่มีการเหนี่ยวนำให้เกิดความผิดปกติทางระบบภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง ส่งผลให้เกิดการแตกของเม็ดเลือดแดงอย่างรวดเร็วผิดปกติ อาจจำเป็นต้องใช้ยากดภูมิร่วมกับการรักษาอื่น ๆ ควบคู่ไปด้วย และหลังจากรักษาหายแล้ว เจ้าของต้องพาแมวมาพบสัตวแพทย์ตามนัด เพื่อติดตามผลการรักษาเป็นระยะ

โรคพยาธิเม็ดเลือดในแมวเป็นโรคที่สามารถรักษาได้เป็นส่วนใหญ่ แต่ต้องรีบรักษาทันทีตั้งแต่อาการของโรคยังไม่รุนแรง แมวบางตัวแม้ว่าอาการของโรคจะไม่แสดงออกแล้ว แต่ก็ยังคงเป็นพาหะของโรคได้ เจ้าของสาามารถดูแลด้วยการปรับสภาพแวดล้อมให้แมวไม่มีความเครียด และพบสัตวแพทย์อย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้อาการป่วยไม่กำเริบ

การป้องกันโรคพยาธิเม็ดเลือด

การป้องกันที่ช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อพยาธิเม็ดเลือดคือ การป้องกันหมัดซึ่งเป็นพาหะในการนำโรค ด้วยการใช้ยาหยดควบคุมหมัดเป็นประจำ และการเลี้ยงแมวระบบปิดเพื่อลดโอกาสการได้รับเชื้อจากการโดนกัดจากแมวที่มีการติดเชื้อ

แม้ว่า การติดเชื้อโรคพยาธิเม็ดเลือดจะสามารถรักษาให้หายได้ แต่เจ้าของควรตระหนักการป้องกันโรค และเรื่องความรุนแรงของโรคเมื่อแมวได้รับเชื้อ ซึ่งบางครั้ง ถ้ารักษาไม่ทัน หรืออาการของโรคพัฒนารุนแรงขึ้น อาจทำให้แมวเสียชีวิตได้

บทความโดย
สพ.ญ.ปิยวรรณ ภู่ระหงษ์ สัตวแพทย์ประจำโรงพยาบาลแมว PURRfect Cat Hospital


เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ – โรคไข้หัดแมว หรือ โรคลำไส้อักเสบติดต่อในแมว