แมวรู้สึกเสียใจ เมื่อเพื่อนรักสัตว์เลี้ยงจากไป

ทีมนักวิจัยจากสหรัฐอเมริกากล่าวว่า การค้นพบครั้งนี้ท้าทายความเชื่อเดิม ๆ ที่เรามองว่า แมวเป็นสัตว์เลี้ยงที่ไม่ชอบเข้าสังคม แต่แท้จริงแล้ว แมวรู้สึกเสียใจ ต่อการสูญเสียได้เช่นกัน

ที่ผ่านมา พวกเราส่วนใหญ่คิดว่าแมวชอบความโดดเดี่ยว มีโลกส่วนตัว และไม่สนใจสมาชิกในบ้าน แต่การศึกษาวิจัยเมื่อเร็ว ๆ นี้ พบว่า แมวรู้สึกเสียใจ ต่อการเสียชีวิตของสมาชิกสัตว์เลี้ยงที่อยู่ในบ้านหลังเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นน้องหมา หรือน้องแมว

เจ้าของหลายท่านที่เข้าร่วมในการศึกษาวิจัยเล่าให้ทีมนักวิทยาศาสตร์ฟังว่า เมื่อมีสัตว์เลี้ยงในบ้านจากไป แมวบางตัวจะมีปัญหาในเรื่องการนอนหลับ บางตัวไม่ยอมกินอาหาร บางตัวก็ส่งเสียงร้องดังอย่างไม่เคยทำมาก่อน บ้างก็เข้ามาคลอเคลียเจ้าของมากขึ้น และไม่ยอมเล่นกับสิ่งของที่เล่นเป็นประจำ เป็นต้น

แมวรู้สึกเสียใจ, แมวเสียใจได้, แมวเสียใจ, แมวเศร้า,

ทีมนักวิจัยผู้อยู่เบื้องหลังการค้นพบพฤติกรรมเหล่านี้ กล่าวว่า การค้นพบครั้งนี้เป็นเรื่องท้าทายมุมมองเดิม ๆ ที่มนุษย์มีต่อแมว ซึ่งเรามองว่า พวกเขาเป็นสัตว์ที่ไม่สนใจสังคม แต่ในทางกลับกัน พวกเขากลับมีความรู้สึกเสียใจต่อเพื่อนสมาชิกที่จากไป และความรู้สึกเสียใจต่อการสูญเสียอาจเป็นความรู้สึกสากลที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียงในมนุษย์

เมื่อเกิดเหตุการณ์สูญเสียเพื่อนสมาชิกในบ้าน “แมวจะไม่ค่อยกินอาหาร ไม่ยอมนอน และเล่นสนุกตามปกติ แต่จะมองหาและเรียกร้องความสนใจจากเจ้าของ หรือสัตว์เลี้ยงตัวอื่น ๆ ในบ้าน รวมไปถึงใช้เวลาตามลำพังเพื่อตามหาเพื่อนสัตว์เลี้ยงที่จากไป” นักวิจัย มหาวิทยาลัยโอกแลนด์ สหรัฐอเมริกา เขียนไว้ในการศึกษาที่เผยแพร่ในวารสาร Applied Animal Behaviour Science

ที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์พบว่า พฤติกรรมการไว้ทุกข์ได้ปรากฏในสัตว์หลายชนิด เช่น ช้าง โลมา และชิมแปนซี เป็นต้น ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ค่อนข้างซับซ้อน อย่างช้างยืนเฝ้าศพของสมาชิกในโขลง และการศึกษาล่าสุดโดยนักวิจัยชาวอิตาลีพบว่า สุนัขแสดงพฤติกรรมที่แปลกไปจากเดิมเมื่อสุนัขตัวหนึ่งในบ้านเสียชีวิต

แมวรู้สึกเสียใจ, แมวเสียใจได้, แมวเสียใจ, แมวเศร้า,

อย่างไรก็ตาม ในงานวิจัยของมหาวิทยาลัยโอกแลนด์ได้เสนอความคิดเห็นว่า ความเศร้าโศกเสียใจของแมวเป็นอาการที่สังเกตได้ไม่ชัดเจน

“ในขณะที่ สุนัขบ้านสืบเชื้อสายมาจากสัตว์ป่าที่อยู่รวมกันเป็นฝูง อาจตอบสนองต่อการตายของสมาชิกร่วมฝูงได้อย่างชัดเจน แมวที่เพิ่งเข้ามาเป็นสัตว์เลี้ยงของมนุษย์อาจจะกำลังปรับตัวให้เข้ากับการใช้ชีวิตร่วมกับสัตว์ในสายพันธุ์เดียวกันก็ได้ และการตอบสนองทางความรู้สึกต่อการสูญเสียเพื่อนสมาชิกในบ้านของแมวอาจต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม” นักวิจัยระบุไว้ในรายงาน

การศึกษาของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโอกแลนด์ครั้งนี้ ได้ออกสำรวจเจ้าของแมวกว่า 450 ท่าน ที่เลี้ยงแมวร่วมกับสัตว์เลี้ยงตัวอื่น ๆ ทั้งสุนัขและแมวที่เพิ่งตายไปเมื่อไม่นานมานี้ โดยให้เจ้าของตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับพฤติกรรมของแมวที่ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งจากกลุ่มตัวอย่างประมาณ 2 ใน 3 เป็นเจ้าของแมวที่เพิ่งเสียแมวอีกตัวหนึ่งไป ส่วนที่เหลือเป็นสุนัข

ศาสตราจารย์เจนนิเฟอร์ วองก์ นักจิตวิทยาเชิงเปรียบเทียบ และเชิงความรู้ความเข้าใจ มหาวิทยาลัยโอกแลนด์ และหนึ่งในนักวิจัยของการศึกษาครั้งนี้ กล่าวว่า “แมวเป็นสัตว์ที่แปลกแยกและไม่เข้าสังคม ซึ่งแตกต่างจากสุนัข” อย่างไรก็ตาม เธอตั้งข้อสังเกตว่า แมวป่ามักจะอยู่รวมกันเป็นฝูงและสร้างลำดับชั้น “ฉันคิดว่าเรากำลังเข้าใจผิดเกี่ยวกับพฤติกรรมของพวกเขา” วองก์กล่าวเสริม

การศึกษาครั้งนี้ได้แสดงข้อมูลให้เห็นว่า แมวจะเกิดผลกระทบทางอารมณ์ที่รุนแรงมากขึ้นหากอยู่อาศัยร่วมกับสัตว์เลี้ยงตัวอื่น ๆ นานขึ้น แต่การอยู่ร่วมในเหตุการณ์การเสียชีวิตของแมวตัวอื่น และจำนวนของสัตว์เลี้ยงในบ้าน ไม่ได้ส่งผลกระทบในแง่ความรู้สึกเสียใจของแมว

“สิ่งที่มีแนวโน้มมีผลกระทบต่อความรู้สึกของแมวโดยตรง คือระยะเวลาที่แมวใช้ร่วมกับสัตว์เลี้ยงตัวอื่น ๆ ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในแต่ละวัน และความสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างแมวสัตว์เลี้ยงตัวนั้น ซึ่งถ้าสัตว์เลี้ยงที่แมวสนิทสนมเสียชีวิตลง มีแนวโน้มว่า แมวที่ยังมีชีวิตอยู่จะมีอาการกินไม่ได้ นอนไม่หลับ และการเล่นสนุกจะลดลง” นักวิจัยกล่าว

นอกจากนี้ ทีมนักวิจัยยังได้ตั้งสมมติฐานสำหรับการศึกษาในอนาคตว่า เจ้าของอาจมีผลต่อการแสดงความรู้สึกของแมวได้ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเจ้าของแมวแสดงความรู้สึกโศกเศร้าเสียใจต่อการจากไปของสัตว์เลี้ยงตัวหนึ่งในบ้านอย่างหนัก แมวที่ยังมีชีวิตอยู่ในบ้านอาจมีแนวโน้มแสดงพฤติกรรมแปลกแยก และซ่อนตัว มากขึ้น เป็นต้น

ข้อมูลอ้างอิง
Applied Animal Behaviour Science, Volume 277, สิงหาคม 2024, – Is companion animal loss cat-astrophic? Responses of domestic cats to the loss of another companion animal


เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ – สัตว์เลี้ยงมีความรู้สึก และอารมณ์ หรือไม่ อย่างไร