ความเชื่อที่ว่า เราควรเริ่มเลี้ยงสุนัขตั้งแต่ “สุนัขวัยเด็ก” เพราะสุนัขจะเชื่อฟัง และเลี้ยงง่ายกว่า “สุนัขโตเต็มวัย” ความเชื่อเหล่านี้อาจไม่ถูกต้องเสมอไปครับ
หลาย ๆ ท่านอาจจะเคยได้ยินแนวคิด และเชื่อว่า ถ้าเราจะเริ่มเลี้ยงสุนัข ควรจะเริ่มเลี้ยงตั้งแต่ สุนัขวัยเด็ก เพื่อให้เราและสุนัขเกิดความผูกพัน เกิดความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน จะทำให้เลี้ยงดูได้ง่ายขึ้น สุนัขจะเชื่อฟังเรามากกว่า ถ้าเทียบกับการรับเลี้ยงสุนัขที่โตแล้ว ความเชื่อดังกล่าว อาจไม่ถูกต้องเสมอไป
จากการศึกษาวิจัย พบว่า ไม่ใช่เพียงสุนัขเด็กเท่านั้น ที่จะสามารถสร้างความสัมพันธ์ หรือความผูกพัน (attachment) กับมนุษย์ได้ แต่สุนัขที่อยู่ในช่วงวัยโตเต็มวัย รวมไปถึงสุนัขที่อาศัยอยู่ในสถานพักพิง ก็สามารถสร้างความสัมพันธ์กับมนุษย์ได้เช่นเดียวกัน
โดยความสามารถดังกล่าวอาจเป็นผลมากจาก “กระบวนการคัดเลือกสายพันธุ์” ของสุนัขมาเป็นสัตว์เลี้ยง (domestication) ที่มนุษย์จะเน้นคัดเลือกเฉพาะน้องหมา ที่แสดงลักษณะการเข้าหามากกว่าสุนัขที่พยายามหลีกเลี่ยงมนุษย์ ลักษณะดังกล่าวจึงเป็นสิ่งที่ถูกคัดเลือกมาในพันธุกรรม และแสดงออกทางพฤติกรรมสุนัข ไม่ว่าจะในสุนัขเด็ก หรือในสุนัขโตเต็มวัย
ความจริงของการรับเลี้ยง สุนัขเด็ก และ สุนัขโตเต็มวัย
ในความเป็นจริง การเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ในสุนัขเด็ก จะเกิดขึ้นได้เร็วกว่าสุนัขที่โตแล้ว แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า สุนัขโตจะไม่สามารถเรียนรู้ ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ หรือสังคมใหม่ได้
ในขณะเดียวดัน การเลี้ยงสุนัขเด็กอย่างไม่เหมาะสม เช่น การเลี้ยงดูที่ทำให้ลูกสุนัขเกิดความกลัว ความสับสน อาจทำให้ลูกสุนัขมีโอกาสแสดงพฤติกรรมที่เป็นปัญหาในอนาคตได้ และความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างเจ้าของและน้องหมา ก็อาจไม่ได้อยู่ในรูปแบบที่เหมาะสมได้เช่นกัน
ในการรับเลี้ยงสุนัขเด็ก เจ้าของจำเป็นเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้เวลา ให้ความเอาใจใส่ในการเลี้ยงดูลูกสุนัขอย่างเหมาะสม ต้องมีการฝึกและสอนทักษะในด้านต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการมีชีวิตอยู่ร่วมกัน เพื่อลดแนวโน้มในการแสดงออกของปัญหาทางด้านพฤติกรรมเมื่อโตขึ้น
ในขณะที่การรับสุนัขโตมาเลี้ยงนั้น สุนัขในกลุ่มนี้มักเกิดการเรียนรู้ต่อสิ่งต่าง ๆ ในสิ่งแวดล้อมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว (ซึ่งอาจจะเป็นการเรียนรู้ที่เหมาะสม หรือไม่เหมาะสมก็ได้ ขึ้นอยู่กับช่วงชีวิตในวัยเด็กของสุนัขตัวนั้น ๆ ) เราจึงสามารถระบุลักษณะนิสัย และพื้นฐานอารมณ์ของสุนัขได้ก่อนที่เจ้าของจะรับเลี้ยง
ด้วยเหตุผลนี้จึงทำให้ผู้เลี้ยงสามารถเลือกสุนัขที่มีลักษณะนิสัยที่เหมาะสมและตรงกับรูปแบบความต้องการได้มากที่สุด และรับรู้ถึงปัญหาที่อาจจะมีติดตัวน้องหมาอยู่แล้ว ก่อนที่จะตัดสินใจรับมาดูแล เช่น สุนัขบางตัวมีนิสัยชอบขุดดิน ก็อาจจะไม่เหมาะกับบ้านที่มีสวนที่มีต้นไม้และดอกไม้สวยงาม เป็นต้น
โดยสรุปแล้ว เราจะเห็นได้ว่า ถึงแม้การรับเลี้ยงสุนัขเด็กจะเปิดโอกาสให้เราสามารถปลูกฝัง และส่งเสริมการเรียนรู้ที่ดีให้กับสุนัข และถึงแม้ว่า สุนัขเด็กจะเรียนรู้ได้เร็วกว่าสุนัขโต แต่ถ้าเจ้าของไม่มีเวลา ไม่ให้การดูแล หรือใส่ใจกับการเลี้ยงลูกสุนัขอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะในช่วง 4-5 เดือนแรกของชีวิต ลูกสุนัขก็มีโอกาสที่จะเกิดการเรียนรู้ที่ไม่เหมาะสม และทำให้มีโอกาสที่จะแสดงพฤติกรรมที่เป็นปัญหาได้ในอนาคต
ในขณะที่การรับเลี้ยงสุนัขที่โตเต็มวัย สุนัขก็ยังสามารถที่จะสร้างความสัมพันธ์กับเจ้าของได้เช่นเดียวกันกับในสุนัขเด็ก นอกจากนี้สุนัขที่โตเต็มวัยจะมีลักษณะนิสัยที่ค่อนข้างชัดเจน ซึ่งจะช่วยในการตัดสินใจรับเลี้ยงของเจ้าของ ช่วยให้เจ้าของเห็นภาพของสุนัขที่จะนำมาเลี้ยงก่อนว่าจะต้องเจอกับอะไรบ้าง
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นการรับเลี้ยงสุนัขเด็กหรือสุนัขที่โตแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดที่เจ้าของจำเป็นต้องมี คือความรับผิดชอบต่อสุนัข ต้องให้การดูแลอย่างเหมาะสมตามหลักวิชาการ ตลอดช่วงชีวิตของสุนัข เพื่อให้สุนัขมีสวัสดิภาพที่ดี และสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับเราในสังคม ได้อย่างมีความสุขที่สุด
บทความโดย
อ.ดร.น.สพ.ปรารมภ์ ศรีภวัศราคม
Prarom Sriphavatsarakom, DVM (Hons), MScStud, PhD
Faculty of Veterinary Science Mahidol University
- Animal Behaviour Clinic, Pasu-arthorn Animal Hospital, Mahidol University
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ – ปัญหาพฤติกรรมของสัตว์เลี้ยง …เราควรทำอย่างไร