รู้หรือไม่…ว่าเราสามารถช่วยลดความเสี่ยงการเป็นมะเร็งให้สุนัขและแมวของเราได้

เมื่อมีสุนัขและแมวเป็นโรคมะเร็งมารับการรักษา คำถามที่เจ้าของหลายๆ คนมักจะถามหมอคือ สัตว์เลี้ยงสามารถเป็นมะเร็งได้ด้วยหรือ และอะไรคือสาเหตุของการเกิดโรค รวมถึงเราสามารถ ลดความเสี่ยงการเป็นมะเร็ง ได้หรือไม่ วันนี้หมอจะมาคลายความสงสัยให้ค่ะ

สุนัขและแมวมีโอกาสเกิดโรคต่าง ๆ ได้เหมือนมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจ โรคไต โรคสมองเสื่อมหรือแม้แต่โรคมะเร็ง สาเหตุการเกิดโรคมะเร็งส่วนใหญ่ในสัตว์เลี้ยงนั้นยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่าเป็นผลมาจากเซลล์ในร่างกายมีการพัฒนาตัวอย่างผิดปกติ ซึ่งอาจจะมาจากความผิดปกติขององค์ประกอบดีเอ็นเอภายในเซลล์หรือเป็นความผิดปกติที่มีผลโน้มนำมาจากหน่วยพันธุกรรม (gene: ยีน) โดยเป็นการถ่ายทอดมาตามสายพันธุ์หรือผ่านทางพ่อแม่ของสัตว์เลี้ยงตัวนั้นๆ และระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายไม่สามารถควบคุมความผิดปกติเหล่านี้ได้ โรคมะเร็งจึงเกิดขึ้นในสุนัขและแมวของเรา จะเห็นได้ว่าสาเหตุการเกิดมะเร็งที่กล่าวมาข้างต้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายในร่างกายของสัตว์ซึ่งเราไม่สามารถควบคุมได้ แต่รู้หรือไม่ว่ายังมีปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงการเป็นมะเร็งอีกหลายอย่าง ซึ่งหากผู้เลี้ยงสามารถหลีกเลี่ยงปัจจัยเหล่านี้ได้ อาจสามารถป้องกัน หรือ ลดความเสี่ยงการเป็นมะเร็ง บางชนิดได้มากทีเดียว บ้านและสวน Pets

 

อะไรบ้างที่เพิ่มความเสี่ยงการเป็นมะเร็งในสุนัขและแมว

ลดความเสี่ยงการเป็นมะเร็ง
ขอบคุณภาพจาก : http://whatculture.com

1.สารเคมีที่สัตว์เลี้ยงสัมผัสในชีวิตประจำวัน ตัวที่ถือว่าเป็นสารก่อมะเร็งทั้งในคนและสัตว์เลี้ยงที่ชัดเจนที่สุดคือ ควันบุหรี่ ในคนนั้นทราบกันมานานแล้วว่าบุหรี่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งปอดและมะเร็งอีกหลายชนิด ในสุนัขและแมวพบว่าอุบัติการณ์การเกิดโรคมะเร็งมีความสัมพันธ์อย่างมากกับการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีควันบุหรี่ โดยมีรายงานการเกิดโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง(Lymphoma: ลิมโฟม่า)สูงขึ้นในสุนัขและแมวที่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าว รวมถึงการเกิดโรคมะเร็งชนิดSquamous cell carcinoma(SCC)ในช่องปากของแมวซึ่งเกิดจากการรับควันบุหรี่โดยการดมหรือเลียกินสารที่ติดอยู่ตามขนเข้าสู่ร่างกาย สารเคมีอีกชนิดที่มีรายงานว่าเป็นสารก่อมะเร็งในสุนัขคือ สารเคมีกำจัดวัชพืชกลุ่ม 2,4-D(2,4-dichlorophenoxyacetic acid) พบว่าสุนัขที่สัมผัสสารเคมีเหล่านี้บ่อยครั้งจะเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองและมะเร็งกระเพาะปัสสาวะได้เช่นกัน ส่วนยากดภูมิคุ้มกันชนิดไซโคลฟอสฟาไมด์(Cyclophosphamide) ซึ่งใช้ในการรักษาโรคมะเร็งหลายชนิดและภาวะโลหิตจางเนื่องจากภูมิคุ้มกันทำลายเม็ดเลือดแดงของตัวเอง (Immune mediated hemolytic anemia: IMHA)นั้นมีรายงานความเสี่ยงต่อการพัฒนามะเร็งที่กระเพาะปัสสาวะของสุนัขเมื่อใช้เป็นระยะเวลายาวนาน

 

2.สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ เช่น แสงอาทิตย์ที่เราสัมผัสในชีวิตประจำวันเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อโรคมะเร็งผิวหนังทั้งในสุนัขและแมว แต่อย่าเพิ่งตื่นตระหนกกันค่ะ เพราะไม่ใช่แสงจากดวงอาทิตย์ทั้งหมดที่สามารถกระตุ้นการเกิดมะเร็งผิวหนังได้ เพราะจริงๆแล้วมีเพียงรังสีอัลตราไวโอเลต B หรือ UV-B ที่เป็นตัวอันตราย และรังสีUV-B นั้นมีอยู่เพียง5%ในแสงอาทิตย์ และไม่สามารถส่องผ่านกระจกได้ ดังนั้นเราสามารถลดโอกาสการเกิดมะเร็งผิวหนังจากการกระตุ้นโดยรังสีUV-B ได้อย่างง่ายๆ ด้วยการหลีกเลี่ยงไม่ให้สัตว์เลี้ยงอยู่นอกบ้านและสัมผัสแสงแดดระหว่างวันมากเกินไปนั่นเอง ส่วนปัญหาการอักเสบเรื้อรังในตำแหน่งอวัยวะต่างๆของร่างกายแล้วมีการพัฒนากลายเป็นมะเร็งนั้นมีการพบในบางอวัยวะเช่น สุนัขที่มีกระจกตาอักเสบเรื้อรังร่วมกับมีการสะสมของเม็ดสีที่กระจกตา(Chronic pigmentation keratitis) มีการพัฒนาเป็นมะเร็งชนิดSquamous cell carcinoma รวมถึงการเกิดโรคมะเร็งซาร์โคม่าในแมวที่ถูกเหนี่ยวนำจากการฉีดวัคซีน(Vaccine associated feline sarcoma) ซึ่งความเสี่ยงการเกิดมะเร็งที่มาจากการอักเสบเรื่อรังเหล่านี้ เราสามารถป้องกันหรือลดความรุนแรงได้โดยนำสัตว์ป่วยที่มีอาการผิดปกติเช่น มีบาดแผลหายช้า มีการขยายใหญ่ของอวัยวะในตำแหน่งที่มีประวัติถูกกระทบกระแทกหรือเคยมีการทำหัตถการเช่น การฉีดยาที่บริเวณเหล่านั้น มาเข้ารับการตรวจรักษาตั้งแต่แรกเริ่ม รวมถึงติดตามอาการอย่างต่อเนื่องเพื่อเฝ้าระวังการเกิดโรคมะเร็ง

 

3.ฮอร์โมนเพศ ถือว่าเป็นปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งระบบสืบพันธุ์โดยเฉพาะโรคมะเร็งเต้านมในสุนัขและแมวเพศเมียเป็นอย่างยิ่ง ส่วนในสุนัขเพศผู้นั้นพบว่าฮอร์โมนเพศผู้มีผลสำคัญต่อการเกิดโรคเนื้องอกต่อมรอบทวาร (Perianal gland adenoma) และ มะเร็งอัณฑะ ดังนั้นการทำหมันให้แก่สัตว์เลี้ยงในช่วงเวลาที่เหมาะสมจะช่วยลดโอกาสเสี่ยงการเป็นมะเร็งได้เช่นกัน

 

แล้วโรคมะเร็งในสุนัขและแมวที่พบเป็นอันดับต้นๆ มีสาเหตุมาจากปัจจัยข้างต้นบ้างหรือไม่

ในปัจจุบันนั้นมะเร็งที่ผิวหนังเป็นโรคมะเร็งชนิดที่พบมากเป็นอันดับหนึ่งในสัตว์เลี้ยงที่เข้ารับการรักษา รองลงมาคือ มะเร็งเต้านม มะเร็งลิมโฟม่า(Lymphoma) และ มะเร็งชนิดTVT (Transmissible venereal tumor)   ซึ่งสาเหตุที่ทำให้สัตว์เลี้ยงของเราป่วยเป็นมะเร็งชนิดนั้นๆนอกจากปัจจัยด้านสารเคมี สิ่งแวดล้อมและฮอร์โมนแล้ว ก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่จำเพาะต่อโรคมะเร็งนั้นๆอีก ดังนั้นหมอจะขอเล่าให้ฟังอย่างละเอียดถึงโรคมะเร็งแต่ละชนิดเพื่อเป็นข้อมูลให้เจ้าของใช้เฝ้าระวังกันนะคะ

 

มะเร็งผิวหนังชนิดมาสเซลล์(Mast cell tumor: MCT)

ขอบคุณภาพจาก : https://dogtime.com

เป็นมะเร็งผิวหนังที่พบมากเป็นอันดับหนึ่งในสุนัข และอันดับสองในแมว โดยในแมวนั้นถือว่าเป็นโรคมะเร็งที่มีความรุนแรงไม่มากสามารถควบคุมโรคได้ด้วยการผ่าตัดนำก้อนเนื้อออก ในขณะที่การเกิดโรคในสุนัขถือว่ามีความรุนแรงมากเพราะมะเร็งมักจะกลับมาเป็นซ้ำหลังผ่าตัดหรือเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของมะเร็งสู่อวัยวะภายในร่างกายเช่น ตับ ม้าม การเกิดมะเร็งชนิดมาสเซลล์ในสุนัขนั้น พบได้ทั้งในเพศผู้และเพศเมียที่อัตราส่วนใกล้เคียงกัน แต่มีสายพันธุ์ที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคคือ สายพันธุ์Bull dog (ได้แก่ Boxers, Boston terriers, English bulldogs, Pugs) Labrador และ Golden retrievers, Cocker spaniels, Schnauzers เป็นต้น

แม้ว่าสาเหตุการเกิดโรคที่แท้จริงจะยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มีปัจจัยหลายอย่างที่เพิ่มความรุนแรงของโรค โดยระยะการป่วยของมะเร็งมาสเซลล์จะประเมินว่ามีความรุนแรงมากขึ้น หากมีการเพิ่มของขนาดและจำนวนของก้อนเนื้อรวมถึงการแพร่กระจายสู่ต่อมน้ำเหลือง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เจ้าของสามารถช่วยลดความรุนแรงลงได้โดยการพาสุนัขเข้ารับการรักษาตั้งแต่เริ่มพบความผิดปกติคือเมื่อก้อนเนื้อยังมีขนาดเล็ก ไม่ควรปล่อยอาการไว้จนก้อนเนื้อมีขนาดใหญ่หรือลุกลามมีหลายก้อน และในกรณีเข้ารับการผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งมาสเซลล์ออก เจ้าของควรนำสุนัขเข้ารับการติดตามอาการและรับการรักษาที่เหมาะสมกับระยะของโรคตามที่สัตวแพทย์ให้คำแนะนำอย่างเคร่งครัด เพื่อลดโอกาสการกลับเป็นซ้ำหรือการแพร่กระจายซึ่งจะเป็นผลร้ายยิ่งขึ้นต่อสุขภาพสุนัขของเรา

 

มะเร็งเต้านม(Mammary gland cancer)

ลดความเสี่ยงการเป็นมะเร็ง
ขอบคุณภาพจาก : https://www.pets4homes.co.uk

ตามที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่าสิ่งที่ทำให้สุนัขและแมวตัวเมียสามารถลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมได้มากที่สุดคือ การทำหมันในช่วงเวลาที่เหมาะสม โดยหมอขออธิบายดังนี้ ในสุนัขเพศเมียพบว่าหากได้รับการทำหมันก่อนการเป็นสัดครั้งแรกจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดเนื้องอกและมะเร็งเต้านมเพียง 0.5% หรือคิดเป็นความเสี่ยงที่อัตราส่วน 1ใน 200 เท่านั้น แต่ความเสี่ยงนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 1 ใน 13 และมากถึง 1 ใน 4 ทันที หากสุนัขได้รับการการทำหมันก่อนการเป็นสัดครั้งที่สองและสาม และพบว่ากรณีทำหมันสุนัขเพศเมียหลังอายุ 4 ปีไปแล้ว จะไม่สามารถลดอัตราการเกิดโรคมะเร็งเต้านมได้เลย ส่วนข้อมูลในแมวเพศเมียนั้นพบเช่นกันว่า การทำหมันก่อนอายุ 6 เดือนสามารถลดอัตราการเป็นเนื้องอกที่เต้านมได้ถึง 91% การทำหมันที่ช่วงอายุ 7-12 เดือนช่วงลดการเป็นได้ 86% และลดเหลือเพียง11%เมื่อทำหมันช่วงอายุ13-24เดือน ทั้งนี้พบว่าหากทำหมันเมื่อแมวอายุมากกว่า 2 ปี จะไม่มีผลช่วยลดอัตราการเป็นเนื้องอกเต้านมได้เช่นกัน ส่วนการฉีดยาคุมเพื่อป้องกันการเป็นสัดนั้น ก็พบว่าเป็นปัจจัยที่สนับสนุนการพัฒนาเนื้องอกเต้านมในสุนัขด้วยเช่นกัน

ดังนั้นการลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งเต้านม เจ้าของสามารถช่วยสัตว์เลี้ยงที่รักได้โดยหลีกเลี่ยงการฉีดยาคุมและเลือกการผ่าตัดทำหมันตามช่วงอายุที่แนะนำข้างต้น เพียงเท่านี้สุนัขและแมวของเราก็จะห่างไกลจากโรคมะเร็งเต้านมได้มากทีเดียวค่ะ แต่หากเจ้าของท่านใดที่มีสุนัขหรือแมวที่ยังไม่ได้ทำหมันและเพิ่งทราบข้อมูลจากบทความนี้ก็อย่างเพิ่งใจเสียหรือเสียใจไปค่ะ เพราะในการพิจารณาความรุนแรงของโรคมะเร็งเต้านมนั้นยังอาศัยข้อมูลเรื่องขนาดก้อนเนื้อ จำนวนก้อนเนื้อและการแพร่กระจายสู่ต่อมน้ำเหลืองร่วมด้วย ดังนั้นหากเจ้าของพบก้อนเนื้อที่เต้านมของสัตว์เลี้ยง สิ่งที่จะช่วยบรรเทาความรุนแรงของโรคมะเร็งเต้านมได้คือ ควรรีบนำสัตว์เลี้ยงไปพบสัตวแพทย์ และมักจะได้รับการรักษาโดยการผ่าตัดนำก้อนเนื้อออก ซึ่งจัดว่าเป็นวิธีควบคุมโรคมะเร็งเต้านมที่ดีที่สุดรวมถึงการกำจัดมะเร็งเต้านมออกตั้งแต่ยังมีขนาดเล็กนั้นก็มีแนวโน้มพยากรณ์โรคที่ดีอีกด้วย ทั้งนี้ภายหลังผ่าตัดเจ้าของควรพาสัตว์เลี้ยงเข้ารับการรักษาและติดตามอาการตามคำแนะนำของสัตวแพทย์อย่างใกล้ชิด ส่วนการเฝ้าระวังการเป็นเนื้องอกเต้านมนั้นเจ้าของสุนัขและแมวสามารถทำเองได้ง่ายๆโดยการคลำตรวจเต้านมของสุนัขและแมว โดยขอบเขตการคลำตรวจ คือ พื้นที่กว้างเป็นรัศมี 2-3 เซนติเมตรรอบหัวนมแต่อัน ลักษณะเนื้องอกเต้านมที่พบได้คือ ก้อนเนื้ออยู่ในชั้นผิวหนังหรือใต้ผิวหนังรอบหัวนม ซึ่งอาจมีตั้งแต่ขนาดเล็กเท่าเมล็ดส้มหรือขนาดใหญ่หลายเซนติเมตร ดังนั้นแนวทางหลักในการลดโอกาสการเป็นมะเร็งเต้านมของสุนัขและแมวคือ ไม่ฉีดยาคุม ทำหมันแต่เด็กและรีบรักษาเมื่อพบก้อนเนื้อ เพียงเท่านี้โรคมะเร็งเต้านมก็จะมีโอกาสเกิดขึ้นกับสุนัขและแมวของเราน้อยมากค่ะ

 

มะเร็งลิมโฟม่า(Lymphoma)

เป็นโรคในกลุ่มมะเร็งระบบเม็ดเลือดที่พบได้มากที่สุดในสุนัขและแมว มะเร็งชนิดนี้กระบวนการในการเกิดและสาเหตุในการเกิดยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่เชื่อกันว่าการเกิดโรคมะเร็งลิมโฟม่าเกี่ยวข้องปัจจัยหลายอย่างที่มีผลร่วมกัน ตั้งแต่ปัจจัยเสี่ยงตามสายพันธุ์ที่พบอุบัติการณ์การเกิดโรคได้มาก เช่น Boxers, Bull mastiffs, Basset hounds, St. Bernards, Scottish terriers, Airedales, Bulldog, Golden retrievers เป็นต้น ความผิดปกติในโครโมโซมบางตำแหน่ง การสัมผัสสารกำจัดวัชพืชกลุ่ม 2, 4-D (2,4-dichlorophenoxyacetic acid) รวมถึงภาวะที่ร่างกายสัตว์มีความบกพร่องทางระบบภูมิคุ้มกันบางประการ ปัจจัยเหล่านี้ร่วมกันทำให้ความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งลิมโฟม่าสูงขึ้นได้ เราพอจะสรุปได้จากข้อมูลข้างต้นว่ามะเร็งลิมโฟม่านั้นมีกระบวนการเกิดโรคที่ซับซ้อนและมีความเป็นไปได้ต่ำที่จะการป้องกันการเกิดโรค ดังนั้นจึงขอแนะนำให้เจ้าของสุนัขและแมวเริ่มต้นที่การเอาใจใส่สุขภาพสัตว์เลี้ยงโดยการหมั่นพาไปตรวจสุขภาพเป็นประจำ เพื่อประโยชน์ในการจัดการโรคตั้งแต่ระยะเริ่มต้น

ส่วนในกรณีที่สัตว์เลี้ยงของเราได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งลิมโฟม่าแล้วนั้น เนื่องจากวิธีการรักษาหลักของโรคนี้คือการใช้ยาเคมีบำบัดเพื่อควบคุมโรคและเพิ่มคุณภาพชีวิตสัตว์ป่วย ซึ่งวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับสัตว์เลี้ยงของเราที่สุดนั้น ผู้เป็นเจ้าของควรปรึกษากับสัตวแพทย์ผู้ให้การรักษาเพื่อพิจารณาจากปัจจัยทุกด้านที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้แก่ ปัจจัยของตัวสัตว์ป่วย คือ ระยะป่วย การพยากรณ์โรคและคุณภาพชีวิตภายหลังการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด ปัจจัยของผู้เลี้ยง ได้แก่ ความสามารถในการดูแลสัตว์ป่วย ทัศนคติต่อการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดตลอดจนสถานะทางการเงิน ซึ่งการวางแผนร่วมกันของเจ้าของและสัตวแพทย์โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้สัตว์ป่วยตัวนั้นๆมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีชีวิตยืนยาวที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ จะทำให้เกิดแนวทางการรักษาเฉพาะตัวสัตว์และก่อเกิดความสบายใจให้ผู้เลี้ยง ซึ่งจะมีผลอย่างมากต่อการประสบความสำเร็จในการรักษาโรคมะเร็งลิมโฟม่าของสัตว์ป่วยตัวนั้น

 

เนื้องอกชนิดTVT (Transmissible venereal tumor)

ลดความเสี่ยงการเป็นมะเร็ง
ขอบคุณภาพจาก : https://puppytoob.com

เป็นเนื้องอกที่เรามักเห็นที่ตำแหน่งอวัยวะเพศของสุนัขทั้งเพศผู้และเพศเมียและยังพบอัตราการเกิดโรคมากในปัจจุบัน เนื่องจากปัญหาสุนัขจรจัดและการเลี้ยงสุนัขแบบปล่อยอิสระทำให้การรักษาโรคนี้ให้หายเด็ดขาดเป็นเรื่องยาก ทั้งนี้ความเสี่ยงในการแพร่กระจายของเนื้องอกชนิดTVT มักเกี่ยวข้องกับฤดูเป็นสัดที่สุนัขมาอยู่รวมกลุ่มกัน โดยเนื้องอกสามารถแพร่ไปสู่สุนัขตัวอื่นได้โดยวิธีการผสมพันธุ์ การเลียหรือดมก้อนเนื้อ ซึ่งจะเกิดการแพร่กระจายไปที่อวัยวะเพศ ลูกตา ช่องจมูก ช่องปากของสุนัขที่สัมผัสเนื้องอกได้ แต่อย่างไรก็ดีสุนัขที่ป่วยเป็นเนื้องอกชนิดนี้ยังมีความโชคดีอยู่มาก เพราะเนื้องอกTVT เป็นเนื้องอกที่มีอัตราหายจากการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดสูงมาก การรักษามุ่งเน้นที่การให้ยาเคมีบำบัดอย่างต่อเนื่องทุกอาทิตย์จนกว่าก้อนเนื้อจะยุบหายทั้งหมดหรือร่วมกับการผ่าตัดเพื่อกำจัดก้อนเนื้อ

แต่จากการรักษาทางคลินิกนั้น หมอมักพบปัจจัยที่ทำให้โรคเนื้องอกTVT มีการรักษายากขึ้นหรือไม่หายเด็ดขาดโดยพบว่าเกิดจาก สุนัขป่วยได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดแต่หยุดการรักษาก่อนที่เนื้องอกจะยุบตัวหมด ทำให้สุนัขเหล่านี้มีการกลับมาโตซ้ำของเนื้องอกTVTและจะประสบปัญหาดื้อต่อยาเคมีบำบัดชนิดพื้นฐานในกรณีกลับมารักษาซ้ำ ทำให้ต้องนำการรักษาประเภทอื่นที่มีความซับซ้อนและค่าใช้จ่ายสูงเข้ามาร่วมรักษาเช่น การฉายรังสีและการทำศัลยกรรม ปัญหาอีกประการที่พบว่าเป็นสาเหตุให้สุนัขกลับมาเป็นโรคเนื้องอกTVTซ้ำคือ การที่สัตว์ป่วยหายดีแล้วแต่กลับไปอาศัยอยู่ร่วมกับสัตว์ที่ยังมีโรคTVT รวมถึงพฤติกรรมเสี่ยงช่วงฤดูเป็นสัด ดังนั้นหากเจ้าของสุนัขต้องการลดความเสี่ยงการติดโรคเนื้องอกTVTควรพิจารณาทำการเลี้ยงแบบจำกัดพื้นที่เพื่อให้สุนัขของเราลดโอกาสสัมผัสกับสุนัขไม่ทราบประวัติ รวมถึงทำหมันสุนัขเพื่อลดปัญหาพฤติกรรมในกรณีสุนัขมีความเสี่ยงต่อการหลุดจากพื้นที่ออกไปผสมพันธุ์กับสุนัขอื่นนอกบ้าน ที่สำคัญอย่างยิ่งคือ กรณีสุนัขเป็นโรคเนื้องอกTVT จะต้องได้รับการรักษาให้หายสนิทก่อนกลับเข้ารวมกลุ่มกับสุนัขในบ้าน

ตามที่ได้กล่าวไปในตอนต้นว่าปัจจัยการเกิดมะเร็งนั้นมีความหลากหลายและยากต่อการควบคุม แต่มะเร็งชนิดต่างๆในสัตว์เลี้ยงก็ล้วนแต่มีปัจจัยเฉพาะตัวที่ผู้เลี้ยงสามารถช่วยป้องกันการเกิดหรือบรรเทาความรุนแรงได้ ดังนั้นการดูแลสุขภาพสัตว์เลี้ยง การตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอ การปฏิบัติตามคำแนะนำของสัตวแพทย์ผู้ให้การดูแล และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การพาสัตว์เลี้ยงมารับการตรวจเมื่อพบความผิดปกติตั้งแต่เริ่มต้น เพียงเท่านี้สัตว์เลี้ยงของเราก็จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งที่รุนแรงน้อยลงแล้วค่ะ

 

บทความโดย

สพ.ญ.สิริภัทรา เนตรมัย เดชกัลยา (อว.สพ.อายุรศาสตร์)

Siripattra Netramai Detkalaya DVM, Ms, DTBVM

คลินิกเนื้องอกวิทยา โรงพยาบาลสัตว์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

Oncology Clinic, Kasetsart University Veterinary Teaching Hospital


 

มะเร็งและเนื้องอกที่พบบ่อยในสุนัข รู้ไว้ก่อนสายเกินแก้

รู้ไหมว่า? น้องหมาน้องแมวก็มีสัตวแพทย์เฉพาะทาง