โรคข้อเสื่อมในแมว เกิดขึ้นได้อย่างไร พร้อมวิธีการดูแล

หากแมวมีอาการเดินขากะเผลก หรือขาเจ็บเป็น ๆ หาย ๆ เดินขาสั่น มีอาการลุกนั่งลำบาก เคลื่อนไหวร่างกายเปลี่ยนไป เช่น เชื่องช้า ไม่ยอมกระโดดขึ้นลงที่สูงจากที่เคยทำได้ อาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณเริ่มต้นของ โรคข้อเสื่อมในแมว

โรคข้อเสื่อมในแมว พบได้บ่อยในแมวที่เริ่มเข้าสู่ช่วงสูงวัย เนื่องจากมีการใช้งานกระดูกและข้อมาอย่างยาวนาน จึงเกิดการเสื่อมพัฒนามาเรื่อย ๆ และเป็นสาเหตุของอาการเจ็บปวดเรื้อรัง (Chronic pain) ซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของแมวในระยะยาวด้วย

สาเหตุของการเกิดโรคข้อเสื่อมในแมว

โรคข้อเสื่อม (Osteoarthritis ;OA) คือ การเสื่อมของกระดูก และข้อต่อ ที่พัฒนาขึ้นอย่างช้า ๆ เนื่องจากความเสื่อมของกระดูกอ่อนผิวข้อ (Articular cartilage) ร่วมกับการงอกใหม่ของกระดูกบริเวณผิวข้อ และขอบกระดูก ซึ่งทำให้เกิดการเสียดสีบริเวณข้อต่อเมื่อแมวขยับตัว หรือเคลื่อนไหว ผลที่ตามมาคือ แมวจะรู้สึกเจ็บปวดบริเวณข้อต่อต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น ข้อศอก ข้อหัวเข่า ข้อสะโพก และข้อเท้า เป็นต้น

โรคข้ออักเสบในแมว, โรคข้อเสื่อมในแมว

โรคข้อเสื่อมในแมว พบได้บ่อยแค่ไหน

โรคข้อเสื่อมเป็นโรคที่พบได้บ่อยในแมวสูงวัย ที่มีอายุมากกว่า 10 ปีขึ้นไป โดยการศึกษาที่เผยแพร่ในปี 2002 พบว่า ร้อยละ 90 ของแมวที่มีอายุมากกว่า 12 ปี มักจะป่วยด้วยโรคข้อเสื่อม

นอกจากนี้ ปัจจัยด้านพันธุกรรมยังพบว่า แมวบางสายพันธุ์มีแนวโน้มเกิดโรคข้อเสื่อมมากกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ เช่น แมวเมนคูนมีโอกาสเกิดโรคข้อสะโพกเสื่อม แมวแอบิสสิเนียน และเดวอนเร็กซ์ มีโอกาสเกิดอาการลูกสะบ้าหัวเข่าเคลื่อน และแมวสก็อตทิชโฟลด์มีความเสี่ยงเกิดโรคข้อเสื่อมแบบ Osteochondrodysplasia เป็นต้น

การตรวจวินิยฉัยจากสัตวแพทย์ส่วนใหญ่รายงานว่า แมวที่เคยได้รับการบาดเจ็บบริเวณกระดูก และข้อต่อ อย่างอาการข้อต่อเคลื่อน และการแตกหักของข้อกระดูก จะมีแนวโน้มเกิดข้อเสื่อมบริเวณที่เคยได้รับบาดเจ็บ

อาการโรคข้อเสื่อมในแมว

ในระยะแรกของโรคข้อเสื่อม แมวจะไม่ค่อยแสดงอาการเจ็บปวด หรือเดินกะเผลก แต่จะมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เช่น ทำกิจกรรมต่าง ๆ ลดลง เดินขึ้นลงบันไดลำบาก จากที่เคยกระโดดขึ้นลงจากที่สูงได้ ก็จะมีอาการลังเล หรือกระโดดเฉพาะขั้นที่ไม่สูง

แมวบางตัวอาจเดินเข้ากะบะทรายน้อยลง หรือก้าวขึ้นกะบะทรายได้ลำบาก เลียขนตัวเองน้อยลง หงุดหงิดมากขึ้น แยกตัว หรือขู่ใส่แมวตัวอื่น เมื่ออาการข้อเสื่อมพัฒนารุนแรงมากขึ้น แมวจะเริ่มแสดงอาการให้เห็นอย่างชัดเจน คือเดินขากะเผลก เดินยกขา ขาเจ็บ มีอาการขาสั่นขณะกำลังเดิน มีการร้องเจ็บเวลาเดินหรือขยับตัว ลุกนั่งลำบาก หลังจากลุกขึ้นแล้วมีอาการเจ็บขา บางรายอาจเกิดอาการบวมบริเวณข้อที่อักเสบ

โรคข้ออักเสบในแมว, โรคข้อเสื่อมในแมว

การตรวจวินิจฉัยโรคข้อเสื่อม

บางครั้ง การตรวจโรคเสื่อมในแมวอาจกลายเป็นเรื่องท้ายทายสำหรับสัตวแพทย์ได้ เนื่องจากแมวมักจะไม่แสดงออกความเจ็บปวดทางร่างกาย ให้สัตวแพทย์และเจ้าของพบเห็นอย่างชัดเจน

ดังนั้น สัตวแพทย์อาจใช้วิธีมากกว่าหนึ่งวิธีในการตรวจร่างกายอย่างละเอียด เข่น การลูบคลำบริเวณกระดูกและข้อต่อ การประเมินความผิดปกติของท่าเดิน และการเคลื่อนไหวร่างกายของแมว การวินิจฉัยด้วยการเอ็กซเรย์ และการทำซีทีสแกน ร่วมกับการซักประวัติจากเจ้าของโดยละเอียด เป็นต้น

การรักษาโรคข้อเสื่อมในแมว

ส่วนใหญ่ การรักษาโรคข้อเสื่อมในแมวเป็นแนวทางการรักษาทีเรียกว่า การรักษาแบบผสมผสาน โดยเป็นการจัดการกับความเจ็บปวดเรื้อรัง เช่น การให้ยาลดอาการอักเสบ หรือยาลดอาการปวด เป็นต้น ร่วมกับการรักษาด้วยการฝังเข็ม และการใช้เครื่องนวดเฉพาะจุด เพื่อลดความเจ็บปวด

เจ้าของแมวจำเป็นต้องปรับสภาพแวดล้อมภายในบ้านให้เหมาะสม โดยการทำทางลาด หรือใช้เก้าอีกเตี้ย ๆ เพื่อให้แมวได้กระโดดขึ้นที่สูงได้ ปรับความสูงของกระบะทรายให้แมวก้าวขึ้นไปได้ง่ายขึ้น และใช้วัสดุปูพื้นที่สามารถกันลื่นได้

รวมไปถึง การจัดอาหารและโภชนาการให้เหมาะสมกับน้ำหนักตัว และช่วงวัย เพื่อควบคุมไม่ให้แมวมีภาวะน้ำหนักตัวมากเกินไป พร้อมทั้งการให้อาหารเสริมสูตรที่บำรุงกระดูกและข้อ

โรคข้อเสื่อมเป็นภัยเงียบที่มีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของแมว ดังนั้น เจ้าของควรพาแมวไปตรวจสุขภาพเป็นประจำ เพื่อใสัตวแพทย์ตรวจร่างกาย และถ้าหากพบความผิดปกได้เร็ว สัตวแพทย์จะได้ช่วยวางแผนการรักษาและดูแลให้แมวมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้

บทความโดย
สพ.ญ.ปิยวรรณ ภู่ระหงษ์ สัตวแพทย์ประจำโรงพยาบาลแมว PURRfect Cat Hospital


เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ: เคล็ดลับการดูแลแมวแก่