โรคเบาจืดในแมว มีอาการอย่างไร และป้องกัน ได้อย่างไร

โรคเบาจืดในแมว แม้จะพบไม่บ่อย แต่ก็อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และเกิดปัญหารุนแรงตามมาได้

โรคเบาจืดในแมว (Diabetes Insipidus; DI) เป็นโรคที่พบได้น้อยมาก เป็นภาวะที่ร่างกายของแมวขับน้ำออกจากร่างกายมากกว่าปกติ ส่งผลให้แมวกินน้ำเยอะกว่าปกติ (Polydipsia) และปัสสาวะมากขึ้น (Polyuria)

โรคนี้เกี่ยวข้องกับระบบฮอร์โมน (antidiuretic hormone, ADH) หรืออาจจะเกิดจากการตอบสนองอย่างผิดปกติของไต ซึ่งเป็นอวัยวะทีเกี่ยวข้องกับการดูดกลับน้ำและของเหลวในร่างกาย ทำให่ร่างกายของแมวเสียสมดุลน้ำในร่างกาย

สาเหตุการเกิด โรคเบาจืดในแมว

โรคเบาจืดแบ่งออกเป็น 2 ชนิดหลัก ได้แก่

1. Central Diabetes Insipidus (CDI)

เกิดจากการขาดหรือสร้าง ADH ไม่เพียงพอ เนื่องจากมีปัญหาที่สมองส่วนไฮโปธาลามัส (hypothalamus) ที่เป็นแหล่งสร้าง และส่งต่อไปเก็บยังต่อมใต้สมอง pituitary gland เช่น ความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด เนื้องอกที่ต่อมใต้สมอง การอักเสบของสมอง การได้รับบาดเจ็บ หรือมีการติดเชื้อ เป็นต้น

2. Nephrogenic Diabetes Insipidus (NDI)

เกิดจากความผิดปกติที่ไตไม่ตอบสนองต่อฮอร์โมน ADH ถึงแม้สมองส่วนไฮโปธาลามัสจะผลิตฮอร์โมนออกมาได้ตามปกติ ซึ่งสาหตุอาจเกิดจากกรรมพันธุ์ตั้งแต่กำเนิด หรือภาวะแทรกซ้อนจากโรคอื่น เช่น โรคไตเรื้อรัง ภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อ ภาวะแทรกซ้อนจากโรคเรื้อรังอื่นๆเช่น ภาวะฮอร์โมนไทรอยด์สูงผิดปกติ หรือผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด เป็นต้น

โรคเบาจืดในแมว, แมวฉี่บ่อย, แมวกินน้ำเยอะ

อาการของโรคเบาจืดในแมว

  • ดื่มน้ำมากผิดปกติ (แมวจะดื่มน้ำมากกว่า 100 มล./กก./วัน)
  • ปัสสาวะบ่อยและมากกว่าปกติ (แมวปริมาณปัสสาวะมากกว่า 50 มล./กก./วัน)
  • ปัสสาวะเจือจาง ปัสสาวะความถ่วงจำเพาะต่ำ (Hyposthenuria; USG <1.008)
  • น้ำหนักลด ผอมลง
  • มีภาวะแห้งน้ำ

การวินิจฉัยโรคเบาจืด

การวินิจฉัยโรคเบาจืดในแมวต้องใช้วิธีการตรวจแยกแยะออกจากโรคที่มีทำให้มีอาการกินน้ำเยอะ และปัสสาวะเยอะได้ (PU/PD) เช่น โรคเบาหวาน โรคไต ต่อมหมวกไตทำงานผิดปกติ โรคฮอร์โมนไทรอยด์สูงผิดปกติ โรคตับ เป็นต้น

โดยการตรวจเลือด การตรวจค่าเคมีทางเลือดเพื่อประเมิณการทำงานของตับ ไต การตรวจระดับน้ำตาลในเลือด การตรวจฮอร์โมนไทรอยด์ การตรวจระดับอิเล็กโทรไลต์ในเลือด และการตรวจปัสสาวะ ซึ่งมักพบปัสสาวะมีความถ่วงจำเพาะต่ำ (Urine Specific Gravity; USG) มักพบค่าต่ำกว่า 1.008 อย่างต่อเนื่อง

การวินิจฉัยที่นำมาใช้การแยกโรคเบาจืดได้คือ การทำ Water deprivation test (การงดน้ำ) ซึ่งต้องทำในโรงพยาบาลและอยู่ในการดูแลของสัตวแพทย์อย่างใกล้ชิด เพื่อดูว่าร่างกายสามารถทำให้ปัสสาวะเข้มข้นได้หรือไม่

การตรวจวินิจฉัยอื่น ๆ เช่น การทดลองให้ยาฮอร์โมน desmopressin (DDAVP) หากให้ DDAVP แล้วปัสสาวะเข้มข้นขึ้น แสดงว่าแมวเป็น Central DI การวินิจฉัยด้วยการทำ CT scan และ MRI ใช้ตรวจในกรณีที่สงสัยว่า อาจมีเนื้องอกที่ต่อมใต้สมองได้

การรักษา และการดูแลแมวที่ป่วยเป็นโรคเบาจืด

การรักษาโรคเบาจืดในแมวจะขึ้นอยู่สาเหตุที่วินิจฉัยขั้นสุดได้ ภาวะโรคเบาจืดที่เกิดจากความผิดปกติของการฮอร์โมน ADH จากสมอง จะรักษาโดยการให้ Desmopressin (DDAVP) ซึ่งเป็นฮอร์โมน ADH สังเคราะห์ สามารถให้ทางตาหยอด (ocular), หรือฉีดได้ การรักษามักให้ผลตอบสนองได้ผลดี แต่มีความจำเป็นที่จะต้องให้ฮอร์โมนต่อเนื่องตลอดชีวิต

ภาวะเบาจืดที่เกิดจากความผิดปกติของไตจะต้องรักษาสาเหตุพื้นฐาน เช่น รักษาโรคไตเรื้อรัง คุมอาหารโดยให้อาหารที่มีโซเดียมต่ำ การพยากรณ์โรคเบาจืดในแมวโดยส่วนมากไม่สามารถรักษาหายขาดได้ ยกเว้นในบางกรณี เช่น สาเหตุจากการบาดเจ็บ หรือภาวะ Nephrogenic DI ที่รักษาสาเหตุที่ซ่อนอยู่ ก็สามารถหายจากอาการของโรคเบาจืดได้

โรคเบาจืดในแมวเป็นภาวะที่พบไม่บ่อย แต่อาจทำให้เกิดปัญหารุนแรงได้หากไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัยอย่างเหมาะสม การวินิจฉัยแยกโรคจำเป็นต้องอาศัยการตรวจหลายขั้นตอนร่วมกัน และหากได้รับการรักษาแล้วจะทำให้แมวสามารถมีชีวิตที่ปกติได้ในระยะยาว และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

บทความโดย

สพ.ญ.ปิยวรรณ ภู่ระหงษ์
สัตวแพทย์ประจำโรงพยาบาลแมว PURRfect Cat Hospital


เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ – ทำไม แมวฉี่ไม่ออก : ปัญหาเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะในแมว